การสื่อสารในองค์กร: ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

วันที่ 15 ธันวาคม 2554

การสื่อสารในองค์กร: ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

ไอเดียร์นี้เกิดขึ้นจากที่ประชุมคณะกรรมการคณะในวันนี้ ผมสังเกตว่ามีหลายเรื่องที่ขาดการสื่อสารที่ดีระหว่างบุคลากรในองค์กร ทำให้การตีความเจตนาของอีกฝ่ายหนึ่งอาจผิดไป ขณะนี้ที่อีกฝ่ายก็ไม่ได้บอกให้ทราบว่าทำอะไร หรือทำไปทำไม หากมีการซักถามหรือพูดคุยกัน ข้อข้องใจ คิดว่าปัญหาที่เกิดจากความไม่เข้าใจกันอาจหมดไป หรือคลายลงไปได้ในที่สุด แต่ในหลายกรณีถ้าไม่มีการสื่อสารที่ดีกันแล้ว และปล่อยให้อีกฝ่ายไปตีความไปเอง หรือตีความแบบเข้าข้างตนเอง ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน และสามารถสร้างความบาดหมางของสมาชิกในองค์กรได้ ทำให้องค์กรไม่สามารถเดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ผมมองว่าคณะมส. เป็นคณะที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ในมอ.ปัตตานี เพระมีจำนวนอาจารย์เกือบ 150 คน และบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการอีกเกือบ 40 คน ตลอดจนมีนักศึกษาเกือบ 3 พันคน ที่มาเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ มากกว่า 20 หลักสูตร เมื่อองค์กรใหญ่ขนาดนี้ บางครั้งการสื่อสารระหว่างกัน อาจมีปัญหากันบ้าง การสื่อสารไม่ทั่วถึงกันไปบ้าง หรือบางทีไม่มีการสื่อสารกันบ้างก็มี และในหลาย ๆ กรณีทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน เราอยู่ใกล้กันแต่เหมือนอยู่กันคนโลก (ฟังดูแล้วไกลจังเลย) จริง ๆ แล้วเราอยู่กันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ปัญหาในบ้านเรา เราควรจะนำมาคุยกันในบ้าน ถ้านำออกไปคุยนอกบ้าน บางครั้งอาจทำให้ปัญหาในบ้านยิ่งบานปลายก็ได้

ผมเลยคิดว่า interdialogue หรือการจัดสานเสวนาในรูปแบบต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำมาก เรื่องนี้มิได้หมายถึงเฉพาะการเชิญบุคลากรที่เกี่ยวข้องมานั่งพูดคุยกันในลักษณะ face to face เพียงอย่างเดียว เราคงต้องสร้างช่องทางการสื่อสารให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น อย่าให้เกิดช่องว่างของข้อมูลระหว่างบุคคลสองกลุ่ม หรือหลาย ๆ กลุ่ม สำหรับช่องทางการสื่อสาร อาจประกอบไปด้วย การหันมาใช้อีเมล์ เว็ปบอร์ด กระดานข่าว แผ่นประชาสัมพันธ์ การพูดคุยระหว่างกัน การจัดประชุม หรือสื่ออย่างอื่นก็ได้ โจทย์ของเราก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ข้อมูลไหลจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง และไหลไปให้ทั่วถึงมากที่สุด และที่สำคัญต้องเป็นข้อมูลที่มาจากฐานความจริง มิใช่ขอมูลแบบโคมลอย เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ ทั้งหมดนี้ก็เข้าทางระบบธรรมาภิบาลนั่นเอง หรือ Good Governance นั่นคือเน้นความโปร่งใส (transparency) ตรวจสอบได้ (accountability) นี่คือรูปแบบของการบริหารยุคใหม่ เราต้องเดินไปสู่จุดนี้ให้ได้

คณะมส.เราเป็นคณะที่มีอายุเก่าแก่พอสมควร ในปี พ.ศ 2557 คณะมส. จะครบ 40 ปี ก็ถือว่าเป็นคณะอันดับต้น ๆ ของสงขลานครินทร์ การเปลี่ยนแปลงบางครั้งต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าแก้ไขทีเดียวทันที ผมกำลังหมายถึง ถ้ามีบุคลากรบางท่านยังไม่สะดวกที่จะติดตามข่าวสารผ่านระบบอีเมล์ หรือเว็ป ก็คงต้องใช้แบบเก่ากันไปก่อน แต่แบบใหม่ก็ทำกันต่อไปเรื่อย ๆ พยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขององค์กรไปเรื่อย ๆ และผมเชื่อว่าสุดท้ายทุกคนก็หันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น สรุปแล้วเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญอีกข้อหนึ่ง ที่บุคลากรทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงด้านการสื่อสาร หรือการประชาสัมพันธ์ คงต้องทำงานกันอย่างหนัก เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในองค์กร ทั้งนี้ทุกคนก็มีส่วนช่วยผลักดันให้องค์กรของเราเดินหน้ากันต่อไป

บดินทร์